ข่าวสังคมทั่วไป » วันช้างไทย “เกียรติภูมิคชาไทย อยู่คู่แผ่นดิน” ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2565

วันช้างไทย “เกียรติภูมิคชาไทย อยู่คู่แผ่นดิน” ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2565

13 มีนาคม 2022
1363   0

วันช้างไทย
“เกียรติภูมิคชาไทย อยู่คู่แผ่นดิน” ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี
วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2565

ในปีมหามงคลครบรอบสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี นับเป็นศุภมงคลสมัยที่ชาวไทยจะได้ร่วมแซ่ซร้องยินดีน้อมเกล้าฯถวาย ช้างสำคัญ ที่มีคชลักษณ์งามสมบูรณ์ แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมกับได้ร่วมเชิดชูเกียรติยศของช้างไทย สัตว์คู่บ้านคู่เมือง และมีคุณต่อแผ่นดินมาช้านาน
เป็นที่ทราบกันดีว่า วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน “ช้างไทย” โดยในปีพุทธศักราช 2565 นับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง เนื่องในปีมหามงคลครบรอบสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี มูลนิธิสหชาติ เล็งเห็นถึงความสำคัญของช้างไทย ในปีมหามงคลนี้ จึงได้จัดงาน วันช้างไทย “เกียรติภูมิคชาไทย อยู่คู่แผ่นดิน ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี” ขึ้น ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม วันช้างไทยที่ผ่านมา

พิธีเปิดงานวันช้างไทย ประจำปีพุทธศักราช 2565 ได้รับเกียรติจากพลโท วสันต์ ทัพวงศ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ถวายเครื่องราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 และกล่าวเปิดงาน จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหาร นำชมอาคารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่บูรพมหากษัตริย์ และวีระชนไทยผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยมีภาพจิตรกรรมร่วมสมัยเล่าเรื่องเกียรติประวัติช้างไทย ปรากฏอยู่ด้วย อย่างงดงาม

พระชายกลาง อภิญาโณ ประธานมูลนิธิ สหชาติ กล่าวว่า “มูลนิธิสหชาติ คือองค์กรการกุศล ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นผู้ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ช้างไทยมาโดยตลอด อันมีโครงการ รักคุณเท่าช้าง เป็นต้น ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดี ที่วันช้างไทย ปี 2565 ตรงกับในวาระสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี มูลนิธิฯจึงมีพิธีเปิดงานวันช้างไทยขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จัดงานจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนจากจากบริษัท บางกอก อิมเพรส ผู้ผลิตสื่อเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผลิตสารคดีสั้น ชุด เกียรติภูมิคชาไทย นำเสนอเรื่องช้างไทยในทุกมิติ จำนวน 10 ตอน

และได้การสนับสนุนการออกอากาศจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 ผ่านทางรายการเมืองไทยใหญ่อุดม เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมเป็นต้นไป ด้านการเสวนา ได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ อันมีพล.อ.เสริมศักดิ์ วิเศษไชยศรี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และคุณธนบดี พรหมสุข ประธานศูนย์อนุรักษ์ ช้างทองคำ ให้เกียรติร่วมกันหาทางออกในการอนุรักษ์ช้างไทย อย่างบูรณาการเพื่อความยั่งยืน คือคนเลี้ยงช้างอยู่ได้ ช้างมีชีวิตอยู่ดี ซึ่งคาดว่าวันช้างไทยปีนี้ น่าจะเป็นปีแห่งพลังการขับเคลื่อนการดูแลช้างไทยกันอย่างจริงจัง”

ในการเสวนา เกียรติภูมิคชาไทย จะรักษาอย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากจะเป็นการเสนอแนวทางร่วมการอนุรักษ์ช้างไทยอย่างบูรณาการเพื่อความยั่งยืนแล้ว คุณธนบดี พรหมสุข ประธานศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ ยังได้นำเสนอเอกสารสำคัญจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แสดงการตรวจลักษณะรูปพรรณพิเศษ 7 ประการ ของพลายเอกชัย ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ เข้าข่ายเป็นช้างสำคัญ หรือช้างเผือก ซึ่งตามพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 มาตรา 12 ระบุว่า ผู้ใดมีช้างสำคัญ หรือช้างสีปลาด หรือช้างเนียม โดยเหตุที่ตนจับได้ หรือโดยแม่ช้างของตนตกออกมา หรือโดยเหตุอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ต้องนำขึ้นทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จให้ตามสมควร
“พลายเอกชัย ปัจจุบันท่านอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง ช้างทองคำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นช้างพลายอายุ 36 ปี ที่เผยรูปพรรณพิศษ เข้าข่ายช้างสำคัญชัดเจนขึ้นเรื่อยๆมาโดยลำดับ ทางศูนย์ฯได้ดูแลท่านเป็นอย่างดีเสมอมา และจะได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติช้างป่าต่อไป ซึ่งไม่สามารถครอบครองได้ ด้วยกราบน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเป็นปีมหามงคล วันช้างไทย 2565” คุณธนบดี กล่าว

ในปัจจุบันแม้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปมาก โขลงช้างพบน้อยลง ช้างเผือกยิ่งหายากยิ่งขึ้น แต่ความสำคัญของช้างเผือกมิได้ลดน้อยลงไปกว่าเดิม เมื่อได้มีการพบช้างสำคัญเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร ทวยราษฎร์ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญในพระบารมี น้อมนำให้มีการประกอบพระราชพิธีรับและขึ้นระวางโภช ตามพระราชประเพณีที่เคยเชื่อถือและปฏิบัติกันสืบมา