ไลฟ์สไตล์ » วช. ร่วมกับ จ. ชุมพร นำทีมวิจัย ลุยพื้นที่ ดันนวัตกรรมแปรรูปผลไม้ ช่วยชาวสวนมังคุด แก้ปัญหาผลิตผลล้นตลาด

วช. ร่วมกับ จ. ชุมพร นำทีมวิจัย ลุยพื้นที่ ดันนวัตกรรมแปรรูปผลไม้ ช่วยชาวสวนมังคุด แก้ปัญหาผลิตผลล้นตลาด

20 ตุลาคม 2021
394   0

วันนี้ (20ตุลาคม 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ร่วมกับจังหวัดชุมพร นำโดย นายสัมฤทธิ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร

นำทีมนักวิจัย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง “โครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่” และ “โครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน” ลงพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผนึกการทำงานกับภาครัฐ เอกชน และกลุ่มชาวสวนมังคุด เพื่อขับเคลื่อนการแปรรูปผลไม้เพิ่มมูลค่า บรรเทาผลผลิตล้นตลาด กระตุ้นการจ้างงาน

  • ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย วช. ตระหนักถึงปัญหา และผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก จึงได้วางเป้าหมายการวิจัยและพัฒนา ให้สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง 

ดยส่งเสริมให้ “นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ภายใต้แนวคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ไปสู่ “นวัตกรรม” เปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนภาคการผลิตสินค้า ไปสู่ภาคการบริการมากขึ้น วช.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย แก่โครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ และโครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าแปรรูปทางการเกษตร โดยทั้ง 2 โครงการนับเป็นการสร้างต้นแบบงานวิจัยเชิงพื้นที่ สำหรับการถ่ายทอดระบบการผลิตไปยังชุดการผลิตอื่นได้อีก ช่วยยกระดับขีดความสามารถให้กลุ่มเกษตรกรจังหวัดชุมพร และยังก่อให้เกิดการจ้างงานกับคนในพื้นที่ หรือนักศึกษาจบใหม่ได้

รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา หัวหน้าโครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ กล่าวว่า คณะนักวิจัย เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ที่เข้ามาสมทบ ทำให้สินค้นทางการเกษตรไม่สามารถส่งออกได้

เกิดการล้นตลาด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังจึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกันแบบสหวิชาการ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล สถาปัตยกรรม และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อร่วมกันออกแบบชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ จนมีความพร้อมและประสิทธิภาพสำหรับการแปรรูปผลไม้ มาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนด GMP โดยการสร้างชุดเครื่องจักรตัวต่อให้อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 3-4 ตู้ มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ ประกอบพร้อมใช้งาน เคลื่อนที่ไปในชุมชน แหล่งผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถแปรรูปพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในรูปแช่เยือกแข็ง เพื่อเก็บรักษาผลไม้ที่ล้นตลาด รอการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงไว้ในธนาคารผลไม้ได้อย่างเร่งด่วน ขณะนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งกลุ่มชาวสวนมังคุดหลังสวนถือเป็นต้นแบบที่เข้มแข็ง สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ จากการที่มีผลผลิตเก็บไว้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของตลาด สามารถดันราคาให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถแปรรูปผลิตผลอื่น ๆ ได้อีกไม่รู้จบ

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หัวหน้าโครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน ได้กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายการแปรรูปมังคุดให้มีคุณค่าตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าให้มังคุดสด และเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์แปรรูป ถือเป็นการกระตุ้นความต้องการมังคุดสด โดยได้ออกแบบเป็น 5 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1)น้ำมังคุดพร้อมดื่ม 2)เจลเพื่อพลังงานจากมังคุด 3)มังคุดสดตัดแต่งพร้อมรับประทาน 4)เครื่องดื่มมังคุดผงชงเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก และ 5)ผลิตภัณฑ์เค้กจากเนื้อสดและผงจากเปลือกมังคุด ซึ่งนวัตกรรมการผลิตสามารถคงคุณภาพของมังคุดสดไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บอกเล่าผ่านประเพณี “แห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง” ของชาวหลังสวน สามารถส่งเสริมให้เป็นของฝากของที่ระลึก สร้างเศรษฐกิจให้กับอำเภอหลังสวนในฤดูการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจัดจำหน่ายในพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยมิติการเกษตรและการท่องเที่ยวได้

พร้อมกันนี้ วช. นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ที่ปรึกษาโครงการและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ภาคประชาคมวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมชมชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ พร้อมหารือการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดไปใช้ประโยชน์ร่วมกับจังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2564 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด อนาคตของจังหวัดชุมพรสามารถต่อยอดไปได้ไกลที่สุด สร้างการตระหนักรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยมีชุมชนชาวลุ่มน้ำหลังสวนเป็นต้นแบบ นอกจากจะสามารถพยุงเศรษฐกิจในช่วงส่งออกไม่ได้แล้ว ยังส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริโภคในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป