สั่งกยท.นำร่อง20,000ไร่ สร้างต้นแบบการจัดการคาร์บอนของสวนยางพาราในประเทศไทย
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (29 ต.ค.64) ว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)รัฐบาลจึงได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2007 จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2015 – 2050 เป็นแผน 35 ปี
และในปีนี้ รัฐบาลไทยกำหนดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Bio – Circular – Green Economy Model (BCG Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การมีส่วนร่วมของภาคเกษตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษา และ 4. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ รวมทั้งมีโครงการความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNDP, UNEP, FAO, ADB, GIZ ของเยอรมนี และความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ดำเนินการภายใต้กองทุน NAMA Facility ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดนมาร์ก และสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) โดยฝ่ายสหราชอาณาจักรยินดีสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือในครั้งนี้
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรทั้งในเรื่องของการเพาะปลูก ผลผลิต จนส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมทั่วประเทศได้รับผลดังกล่าวเช่นกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กยท.จึงดำเนินโครงการ “บริหารจัดการ คาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา” หรือโครงการลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่งของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย BCG MODEL ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล (Green Economy) สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ได้ลงนามในพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ในการส่งเสริมโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดทำมาตรฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต รวมทั้งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการของกยท. แล้ว รมว.เกษตรฯ ยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ต่อไป
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “บริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา” จะนำสวนยางพาราของ กยท.จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีการดำเนินงาน 2 ขั้นตอนคือ ในปี 2565 กยท.จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด CARBON MARKET ต่อไป ซึ่งจากการวิจัยในเรื่องคาร์บอนเครดิตพบว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีการกักเก็บคาร์บอนได้ดี สามารถเก็บได้ตั้งแต่อายุต้นยาง 1–18 ปี โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีแรกก่อนเปิดกรีด เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือการขนส่ง ที่จะส่งผลก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
กยท. จะขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสวนยางพาราอยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. ประมาณ 22 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง