รัฐมนตรีเกษตรห่วงเพชรบุรีสั่งชลประทานเร่งช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันล่าสุด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบฉับพลันล่าสุดในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีว่า ได้ประสานการทำงานกับนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รักษาราชการผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรีและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีโดยเร็วที่สุดตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันเมื่อคืนวันวานที่ผ่านมาตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีความห่วงใยในพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรี

นายอลงกรณ์กล่าวว่า น้ำหลากน้ำท่วมฉับพลันครั้งนี้เกิดจากฝนตกหนักเหนืออ่างเก็บน้ำและใต้อ่างเก็บน้ำทั้ง3แห่งคือแก่งกระจาน แม่ประจันต์ ห้วยผากและห้วยสงสัยในช่วงวันที่23-24พ.ย. ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่บางหมู่บ้านของอำเภอแก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง ท่ายางและชะอำเป็นภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลันมาเร็วไปเร็ว ซึ่งจังหวัดเพชรบุรี ปภ.จังหวัด กำนันผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานชลประทานและเครือข่ายจิตอาสาได้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายเป็นปกติโดยส่วนใหญ่เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขังโดยมอบหมายให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ชลประทานจังหวัดเพชรบุรีและสำนักงานชลประทานที่14ระดมเครื่องจักกลและเครื่องสูบน้ำเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด
สำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเพชรบ่ายวันนี้ได้ระบายลงแม่น้ำเพชรบุรี100ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและคลองระบายน้ำ4สายหลักในปริมาณเท่าๆกันซึ่งด้วยปริมาณน้ำดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ใต้เขื่อนเพชรได้แก่อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาดและเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี แต่อาจมีน้ำท่วมขังในตำบลบ้านกุ่ม ท่าแร้งและบางครกซึ่งชลประทานจะเร่งสูบน้ำและผลักดันน้ำออกจากพื้นที่
ภายในไม่มีวันข้างหน้า
“น้ำท่วมครั้งนี้เป็นท่วมเฉพาะบางพื้นที่ในระยะสั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อการค้าธุรกิจ และการท่องเที่ยวในวงกว้างแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาจากทางราชการโดยเร็วต่อไป สำหรับน้ำท่วมครั้งที่แล้วระหว่างงันที่8-11พ.ย.ทางจังหวัดสรุปรายงานมีพื้นที่5อำเภอ17ตำบล98หมู่บ้าน369ครัวเรือนซึ่งจะเร่งจ่ายเงินเยียวยาโดยเร็ว ส่วนน้ำท่วมครั้งนี้ให้เร่งทำการสำรวจเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วต่อไป “นายอลงกรณ์ กล่าว

วช. โชว์ต้นแบบเครื่องประดับสุขภาพช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด 19

ช่วงบ่ายวันนี้ (25 พ.ย. 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม Research Expo Talk โชว์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thailand Research Expo 2021) 

วช. ได้นำโครงการการพัฒนาเครื่องประดับสุขภาพ (Beyond Jewelry) ที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับ ของ นางสาวมาลิน เศวตกิติธรรม แห่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาโชว์ โดยได้รับเกียรติจาก นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอผลงาน ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

นายทนง ลีลาวัฒนสุข กล่าวว่า อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ด้วยภูมิปัญญาในการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีและช่างฝีมือเจียระไน
อัญมณีและผลิตเครื่องประดับมีทักษะความชำนาญสูง ทำให้สร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีหลายแสนล้านบาทและก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานนับล้านคน รวมถึงการจ้างแรงงานทั้งในและนอกระบบ ตั้งแต่ต้นปี 2563
ทุกประเทศทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและงานทั่วโลก คือ
1) ไม่สามารถติดต่อทำการค้าได้ เนื่องจากไม่มีเวทีในการเจรจาธุรกิจ เช่น งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ถูกยกเลิก 2) นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ 3) ร้านค้าจะถูกปิดด้วยนโยบายล็อคดาวน์ และ 4) งานสังคมต่าง ๆ ถูกยกเลิกทำให้มีผลต่อการใช้เครื่องประดับลดลง สถาบันเห็นว่า เมื่อวิกฤตนี้ผ่อนคลายลง สิ่งที่ทำให้เกิดในระยะสั้น คือ พฤติกรรมใช้จ่ายของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะแตกต่างกันไปจากเดิม เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเห็นความสำคัญของสุขภาพและการใช้จ่ายอย่างประหยัด อดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม หรูหรา และบางรายซื้อเพื่อการลงทุนหรือออมเป็นสินทรัพย์ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สถาบันเห็นว่า ผู้ประกอบการจะต้องต่อยอดการผลิตเครื่องประดับให้เป็นมากกว่าการแต่งเพื่อความสวยงามมาก เช่น เครื่องประดับเพื่อสุขภาพ เครื่องประดับเพื่อการออม เครื่องประดับที่มีประโยชน์ใช้สอยและเครื่องประดับเพื่อความทรงจำ ฯลฯ
โครงการพัฒนาเครื่องประดับเพื่อสุขภาพด้วยการนำเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพมาพัฒนาออกแบบให้เป็นเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ โดยบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพมาพัฒนาออกแบบให้เป็นเครื่องประดับเพื่อสุขภาพสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้มีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับทั่วไป

สำหรับผลงานในโครงการการพัฒนาเครื่องประดับสุขภาพ (Beyond Jewelry) ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาออกแบบต้นแบบเครื่องประดับสุขภาพจำนวน 7 ผลงาน ดังนี้ 1) Young ไม่ OLD โดยมีแนวคิด Jewelry with Function ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ ตัวตน รสนิยมของผู้ใส่ อันประกอบด้วยเครื่องประดับและของตกแต่งสภาพแวดล้อม ที่ส่งมอบคุณค่าด้านความคิดแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครทำให้ผู้ใช้ผู้สวมใส่ดูดี สามารถเข้ากับ Lifestyle ในยุคนี้ 2) จี้เงินตาไม้ฟอกอากาศ “หยาดบริสุทธิ์”
แนวคิดเกิดจากช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั่วโลก ทุกสิ่งทุกอย่างดูหมองหม่นสิ้นหวัง แต่เมื่อเริ่มควบคุมได้ ทุกอย่างดีขึ้น ก็สัมผัสได้ซึ่งโอกาสและความหวังครั้งใหม่ เหมือนอารมณ์การสัมผัส หยาดฝนหยดใหม่ ท่ามกลางความแห้งแล้ง นำพาความชุ่มชื้นและความหวังกลับมาอีกครั้งหนึ่ง 3) ความกลมเกลียวของน้ำที่ 1 (Water Harmony I) 4) ความกลมเกลียวของน้ำที่ 2 (Water Harmony II) เกิดจากผลึกน้ำที่เรียงตัวสวยงามมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้อยคอ ต่างหู และสร้อยข้อมือ เพื่อสื่อถึงความสมดุลและความกลมเกลียวของโมเลกุลของน้ำ โดยน้ำเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมที่สมมาตร โมเลกุลของน้ำที่เรียงตัวกันจนเกิดเป็นผลึกที่สวยงาม 5) ปีกแห่งชีวิต นักออกแบบผู้เป็นที่คิดค้นอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา นักออกแบบได้สัมผัสถึงแรงบันดาลใจและความรู้สึกของผู้มีปัญหาแขนขาอ่อนแรงและไม่สามารถเดินได้อีก ต้องนั่งรถเข็นอยู่ตลอดเวลา หมดหวังในชีวิต จนมาเจออุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้สามารถขึ้นมายืนด้วยขา ของตัวเองครั้งเปรียบเสมือนปีกที่ช่วยพยุงขาของเขาให้สามารถเดินได้อีกครั้ง 6) คอลเลคชั่น เครื่องประดับก็อากาศ เกิดจากแรงบันดาลใจของนักออกแบบ คือ เครื่องประดับที่สามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่ จึงได้ออกแบบ Air Purifier Jewelry ในรูปแบบกำไล ที่ปล่อยประจุอิออนลบออกมาเพื่อจับฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคและทำให้ตกลงพื้นก่อนที่เราจะหายใจเข้าไปและ 7) คอลเลคชั่น แหวนประคองนิ้ว ออกแบบให้เป็นโครงร่างตามเส้นใบไม้ หรือ เป็นแบบใบไม้ทึบสร้างลวดลายตามเทคนิคโมกุเม่กาเน่สามารถสวมใส่ เข้ากับทุกเทรนด์เสื้อผ้า Lifestyle

โครงการการพัฒนาเครื่องประดับสุขภาพ (Beyond Jewelry) หวังว่าผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้ทำการออกแบบไว้ จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาทำการดัดแปลงหรือทำการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การคิดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-634-4999 ต่อ 451-456 อีเมล rd@git.or.th

“บ้านครีม” เปิดตัวยาสีฟันสมุนไพร เกรดพรีเมี่ยม มุ่งสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

บ้านครีม บุกตลาดยาสีฟันสมุนไพร ด้วยการส่ง แซนดี้ฤทธา ( Sandi Ritta ) ยาสีฟันสมุนไพรไทย เกรดพรีเมี่ยมเข้าแข่งขัน เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดมูลค่ากว่า 10,800 ล้านบาทต่อปี หนีสงครามราคาด้วยกลยุทธ์ใช้ตัวแทนจำหน่ายขายตรงสู่มือผู้บริโภค ผ่านระบบออนไลน์ที่ทันสมัย ซึ่งเพียงแค่เปิดตัวในเดือนแรก ยาสีฟันสมุนไพร แซนดี้ฤทธา ได้รับการตอบรับจากตัวแทนจำหน่ายอย่างดีผ่านยอดการจอง ทำให้สินค้าล็อตแรกหมดอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้จัดงานเปิดตัวสินค้าใหม่ และส่งมอบสินค้าล็อตแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

คุณณัฐนรี ตรีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านครีม จำกัด หรือ คุณทรายบ้านครีม เปิดเผยว่า บ้านครีม ก่อตั้งในปี 2549 เติบโตมาจากการเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเครื่องสำอาง เน้นผลิตสินค้าสูตรเข้มข้นที่ใช้แล้วต้องเห็นผลเป็นหลัก จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมายาวนานกว่า 15 ปี การขยายธุรกิจด้วยการเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าใหม่ เพื่อขยายเข้ามาสู่ตลาดยาสีฟันสมุนไพรในครั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของตลาดยาสีฟันสมุนไพร ที่ยังสามารถเติบโตได้อีกเป็นอันมาก ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตมาจากสมุนไพรเป็นอย่างมาก การเปิดตัวสินค้าใหม่ในครั้งนี้ ยังมาพร้อมกับข้อเสนอพิเศษที่ปฏิเสธไม่ได้ สำหรับผู้ที่สนใจเป็นตัวแทนจำหน่าย

“จุดเด่นของยาสีฟันสมุนไพรสูตรนี้ คือความเข้มข้น เห็นผล และใช้ดี ใครใช้ก็ชอบค่ะ สูตรนี้เป็นสูตรลับที่เราในฐานะที่เป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางมายาวนานได้คิดค้น และพัฒนาขึ้นมา โดยการนำสารสกัดดี ๆ จากธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม นอกจากนี้เรายังดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้คน ผ่านแผนการตลาดด้านการสร้างตัวแทนจำหน่าย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอีกด้วย” คุณทรายบ้านครีม กล่าว

ทั้งนี้ แซนดี้ฤทธา เป็นยาสีฟันสูตรพรีเมี่ยม ผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติ เข้มข้นแต่อ่อนโยน เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ไม่มีการแต่งกลิ่นสังเคราะห์ และไม่มี SLS มีสรรพคุณป้องกันเหงือกร่น เหงือกอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน ช่วยลบคราบหินปูน ชา กาแฟ และบุหรี่ ขจัดกลิ่นปากได้เป็นอย่างดี มีขนาด 50 กรัม ราคาจำหน่าย 180 บาท

สนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายสามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 061-954-7879

คุณณัฐนรี ตรีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านครีม จำกัด หรือ คุณทรายบ้านครีม

วช. ผนึกกำลัง สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม

พัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนระดับปริญญาโทและเอก(ปี2564-2568) ระยะเวลา 5 ปี
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดพิธีแถลงข่าวความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และบุคลากรการระดับปริญญาโทและปริญญาเอก วิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีน ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ณ เวที Highlight Stage

ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีรองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานและสักขีพยาน และกล่าวว่า ในนามตัวแทน อว.ขอบคุณทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนร่วมมือกัน หลายสิ่งที่หวังว่าจะประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะสำเร็จอย่างแน่นอนในการทำงานวิจัยให้ออกมาเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

ร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือ สวช. โดย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(สวช.) ได้เห็นชอบร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรมระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีน การร่วมมือในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 ซึ่งสวช.มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ประเทศไทยเดินหน้าก้าวพ้นวิกฤต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) สนับสนุนความร่วมมือในงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีนกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ 2) พัฒนานักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และสร้างความร่วมมือในงานวิจัยระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีนของประเทศในภาพรวม โดยใช้ประสบการณ์ของทั้ง วช. สวช. และสถาบันการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3) เพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาเฉพาะด้านที่เป็นความต้องการของหน่วยงาน และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้โดยตรง โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เป็นการสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกคุณภาพสูงที่อยู่ภายใต้ทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยของ วช. เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 ซึ่งมีผลงานวิจัยคุณภาพในระดับสากล โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวางของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดร.วิภารัตน์ ผอ.วช. กล่าวต่อว่า การทำงานจะเป็นเรื่องความร่วมมือของเครือข่ายหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยวช.และสวช.ร่วมดำเนินการและพิจารณาหัวข้อวิจัย นักศึกษาผู้รับทุน สนับสนุนทุนวิจัย และการดำเนินงานวิจัยส่วนอื่นๆให้แก่นักศึกษาผู้รับทุนที่อยู่ภายใต้ทุนต่างๆ เช่น ทุนพัฒนาบัณฑิตศึกษา,ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(พวอ.) และทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.) ส่วนกรอบงานจะดูเรื่องนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและกำลังคนคือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทางสวช.จะเข้ามาเสริมเรื่องของค่าวิจัย
โดยพิจารณาจากหัวข้อโครงการวิจัยและงบที่ได้รับในแต่ละปี ในปีนี้(2564)จะเริ่มต้นไว้จำนวน 5 ทุน โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบตัวเงิน(in cash) แต่ละปี
โดยทุนพัฒนาบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท จำนวนไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท และปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ,ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยแลงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(ทุน พวอ.) ปริญญาโท ไม่ต่ำกว่า 100,000บาทต่อโครงการ ระยะเวลา 2 ปี ปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท ต่อโครงการระยะเวลา 3ปี และกรณีหลักสูตรระดับปริญญาโท ต่อเนื่องปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 250,000 บาทระยะเวลา 5 ปีต่อโครงการ ,ส่วนทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(ทุนคปก.) หลักสูตรระดับปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทระยะเวลา 3 ปีต่อโครงการ ระดับปริญญาโทต่อเนื่องปริญญาเอก ไม่ต่ำว่า 250,000 บาท ระยะเวลา 5 ปีต่อโครงการ
ผอ.วช. กล่าวต่อว่า ในนามของวช.ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สวช.ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มีความสามารถสูงในด้านวัคซีนต่อไปในอนาคตและจะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศในการก้าวพ้นในภาวะวิกฤต ซึ่งวช.มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กรอบความร่วมมือดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามเจตนารมย์ที่วางไว้ทุกประการ

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า สวช.ขอบคุณ วช.ที่ร่วมมือครั้งนี้และเป็นโอกาสสำคัญในการผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของประเทศ เพราะในช่วงวิกฤต โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้งานด้านวัคซีนทุกคนเห็นความสำคัญ ส่วน สวช.ภายใต้ พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เรากำหนดนิยามของคำว่าความมั่นคงด้านวัคซีนว่า “ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเพียงพอทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน” เพียงแค่นี้ก็มีความยากอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้มีวัคซีนเพียงพอกับความต้องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดเวลา รวมถึงในภาวะฉุกเฉิน(กรณี โควิด-19) ทำอย่างไรที่เราจะสามารถวิจัยและผลิตวัคซีนเองได้อย่างทันท่วงที ซึ่งงานด้านวัคซีนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสั่งสม บ่มเพาะและต้องปลูก ปัจจัยสำคัญคือกำลังคนของเรา ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านวัคซีน ประกอบกับงานด้านวัคซีนมีความกว้างขวางมาก ตั้งแต่ห้องปฏิบัติการ การวิจัยตัวเชื้อไวรัสที่มีขนาดเล็กมาก จนถึงสัตว์ทดลองและไปถึงการผลิตวัคซีนที่มีจำนวนมาก คือ 100-200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องการคนที่มีประสิทธิภาพทั้งสิ้น การพัฒนาคนตั้งแต่ต้นน้ำที่ สวช.ร่วมกับวช. จึงเป็นจุดที่สำคัญอย่างยิ่ง ก่อนมีการถ่ายโอนภารกิจมาที่ วช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เดิมได้มีการทำเรื่องนี้มาแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2558 จนมีการถ่ายโอนวช. ทั้งหมดคือการวางรากฐานสำคัญ

อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานในพิธีอบรมและปฏิญาณตนของผู้พิพากษาสมทบ

ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสตูล และจังหวัดนครศรีธรรมราช ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช สงขลา

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๔๕ – ๑๖.๐๐ นาฬิกา นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๗ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานในพิธีอบรมและปฏิญาณตนของผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา จำนวน ๔๒ คน จังหวัดปัตตานี ๒๖ คน จังหวัดสตูล ๒๑ คน และจังหวัดนครศรีธรรมราช ๓๖ คน รวมทั้งสิ้น ๑๒๕ คน โดยได้รับเกียรติจากมี นางสาววิไล จิวังกูร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๙ นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายปัญญา ช่อมณี อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๘ นายก่อเกียรติ สุพลพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค ๙ นายประคอง เตกฉัตร อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ นายสถาพร ประสารวรรณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๙ นางวิรา ยากะจิ ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นางสาวอัมภัสชา ดิษฐอำนาจ เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ดร.นิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตประธานผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และคณะ ผู้อำนวยการฯ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสตูล และจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมพิธีดังกล่าว ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช สงขลา

วช.ชวนสัมผัส “น้ำหอมจากขนแพะ” ในงาน Thailand Research Expo 2021

นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ฝีมือนักวิจัยคนไทย

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม”Research Expo Talk” เปิดตัวนวัตกรรม “น้ำหอมจากขนแพะ” นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ผลงานของนางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

นางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ไปจังหวัดกระบี่เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพื่อนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาชุมชน ได้โจทย์ขนแพะที่เป็นขยะเหลือทิ้งและจากการบอกเล่าของ นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ขนแพะโดยปกติถูกกำจัดโดยวิธีเผาทิ้งอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าคือวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล
​ทีมนักวิจัยนำขนแพะมาสกัดพบว่า ได้สารสกัดมีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ รวมถึงพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากมีคุณค่ามีคุณสมบัติสูง มีกรดไขมัน (Fatty acid)สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxident) เมื่อนำมาทำน้ำหอมแล้ว นอกจากได้เป็นกลิ่นน้ำหอมแล้ว ยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านเครื่องสำอางและน้ำหอม หากนำมาใช้มากจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสามารถขายได้ ” แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งราคา แต่ในการวิจัยที่ผ่านมาซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาที่ราคา 1,000 บาท ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัมได้ สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ทำน้ำหอมได้ 3 ขวด ราคาประมาณ 3,000 บาท” ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริม BCG (BCG Economy) ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์สูงมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติด้วย และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ใน BCG
​นางสาวขนิษฐา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การวิจัยมีความคืบหน้าถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ มีสารสกัดที่มีการทดสอบฤทธิ์ มีความพร้อมสูงที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความหอม หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ปล่อยกลิ่นหอมระเหยและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศอีก โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้.ถือว่า เป็นเจ้าแรกของประเทศและเป็นเจ้าแรกของเอเชียอีกด้วย โดยขณะนี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีการพัฒนาแล้วและมีส่วนผสมของแพะที่มีสารฟีโรโมนอยู่ในนั้นด้วย นอกจากใช้ในน้ำหอมแล้ว ยังใช้ในครีม โลชั่น สบู่
​ขณะนี้มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาใช้ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน (encapsulation technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกด้วย
​ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้ ยังสามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น อาจนำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่าง ๆ ของจังหวัดกระบี่ เป็นต้น

สามารถร่วมสัมผัส “น้ำหอมจากขนแพะ”ได้ ในงาน Thailand Research Expo 2021 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ 560 ผลงาน จาก 163 หน่วยงาน และภาคการประชุม/สัมมนาใน 105 หัวข้อเรื่อง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก โดยจัดระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

วช. มอบรางวัลธนาคารปูม้าชุมชน ฟื้นปูม้าคืนสู่ทะเลไทย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลการประกวด “ธนาคารปูม้าชุมชน” เพื่อความยั่งยืน ในงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) 

ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้มอบรางวัลฯ

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน และมีนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า นายสมบูรณ์ วงศ์กาด อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และนายสุชัช ศุภวัฒนาเจริฐ หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ เข้าร่วมในพิธีมอบรางวัลฯ ณ เวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
พิธีมอบรางวัลการประกวด “ธนาคารปูม้าชุมชน” ที่ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูปูม้าคืนสู่ทะเลไทย เพื่อความยั่งยืน
ที่ วช. เข้าไปสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ชุมชนต้นแบบกว่า 500 ชุมชนทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูม้าและปล่อยคืนสู่อ่าวไทย มาตั้งแต่ปี 2561 โดยได้แบ่งประเภทการมอบรางวัลออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จำนวน 3 รางวัลได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านเขาดัน จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าท่าพยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และรางวัลชนะเลิศ ธนาคารปูม้าบ้านดอนสาม (ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูปากน้ำชุมพร) จังหวัดชุมพร 2. ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนเดิมที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านแหลมสน จังหวัดตราด รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านหยงสตาร์ จังหวัดตรัง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ธนาคารปูม้าชุมชนบ้านท้องโตนด จังหวัดชุมพร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าบ้านนาชุมเห็ด จังหวัดตรัง และรางวัลชนะเลิศ ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3. ประเภทศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชน จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านหินกบ (ศูนย์เรียนรู้การเพาะและอนุบาลลูกปูม้าเพื่ออนุรักษ์โดยชุมชนบ้านหินกบ) จังหวัดชุมพรรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ธนาคารปูม้าชุมชนสำเภาคว่ำ จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ศูนย์เรียนรู้การขยายพันธ์ุปูม้าและธนาคารปูม้าแบบชุมชนมีส่วนร่วม อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และรางวัลชนะเลิศ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ รางวัลธนาคารปูม้าที่มีศักยภาพสูงด้านการพัฒนา 1 รางวัล คือ ธนาคารปูม้าบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด
ธนาคารปูม้า (Crab Bank) เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่รัฐบาลที่จะฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้าในทะเลไทย โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติให้เจริญเติบโตกลับแทนไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ด้วยวิธีง่าย ๆ แต่ให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล ซึ่งธนาคารปูม้าในแต่ละชุมชนมีกิจกรรมและรูปแบบที่แตกต่างกันไปบ้าง

แต่มีหลักการที่คล้ายกันคือ คนในชุมชนจะร่วมมือกันนำแม่ปูที่มีไข่แก่นอกกระดองมาฝากไว้ในกระชังหรือคอกเพื่อให้แม่ปูม้า
ปล่อยไข่ก่อนนำแม่ปูไปขาย แล้วจึงนำลูกปูม้าที่เพาะฟักจากไข่ไปปล่อยคืนสู่ทะเล เป็นอาหารและแหล่งที่มาของรายได้ชาวประมงต่อไป

อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone)

อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๗ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจัดโดยศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอำนาจเจริญ และบริษัท แอโร กรุ๊ป (๑๙๙๒) จำกัด ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษา กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การฝึกบังคับอากาศยานไร้คนขับจริง และนำความรู้ที่ได้มาวางแผนในการพัฒนาตนเองและเพิ่มความรู้ด้านทักษะอาชีพต่อไป

“เครื่องดื่มน้ำนมข้าวสีไทยทับทิมชุมแพ”สุดยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

นักวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันจากข้าวสีไทย พันธุ์ทับทิมชุม 100% เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมนำมาโชว์ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” ระหว่างวันที่ 22 -26 พฤศจิกายน 2564 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ข้าวสีไทย เป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ โดยเฉพาะพันธุ์ทับทิมชุมแพที่มีความโดดเด่น คือ เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มสีแดง คล้ายทับทิม มีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิกสูง และฟลาโวนอยด์ที่สูงกว่าข้าวสีไทยพันธุ์อื่น สามารถให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ป้องกันเลือดอุดตัน และมะเร็ง อีกทั้งมีปริมาณอมิโลสต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นับเป็น Functional Drink ที่สำคัญ

นางพวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ นักวิจัยจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ผู้วิจัยต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโดยใช้ข้าวสีไทยพันธุ์ทับทิมชุมแพ โดยการบูรณาการศาสตร์ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสีซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศโดยคัดสรรวัตถุดิบสายพันธุ์ข้าวสีสายพันธุ์แท้ จากวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาด จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่มีคุณภาพและปลอดภัย สามารถให้ผลผลิตตลอดทั้งปีเพื่อนำมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มน้ำนมข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นเครื่องดื่มฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยวิสาหกิจชุมชนฯมีความเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาร่วมกับนักวิจัยเพื่อต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดย้ำนมข้าวสีไทย ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยระบบพาสเจอร์ไรซ์ เก็บได้ในอุณหภูมิเย็น ได้นาน 15 วัน ปราศจากสารกันเสียและสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ ไม่เติมสี และแต่งกลิ่น

ด้าน ผศ.ดร.รวมพร เลี่ยมแก้ว จากคณะการจัดการธุรกิจอาหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า นักวิจัยตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบที่ทานง่าย ตอบโจทย์ผู้บริโภค เป็นเครื่องดื่ม Healthy beauty ที่ทำจากข้าวเต็มเมล็ด โดยขณะนี้ได้ขยายผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ สู่การผลิตในระดับเล็ก เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และความสนใจจาก บริษัท วีฟู๊ด (ประเทศไทย) จำกัด ในการร่วมทุนดำเนินโครงการ พร้อมทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย เพื่อวางแผนการตลาด และยังได้รับการจดอนุสิทธิบัตรผลงานร่วมกัน

โดยงานวิจัยสามารถช่วยแก้ปัญหาให้หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรในการปลูกข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพให้มากขึ้น มีมาตรฐานการผลิตที่แน่นอน เพิ่มช่องทางการตลาดในการส่งเสริมกลุ่มข้าวสีไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดโลก สร้างรายได้ที่ยังยืนในการส่งออกผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในเชิงสังคมผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวไทยจะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น สังคมแข็งแรง ลดภาระให้แก่หน่วยงาน อาทิ โรงพยาบาล ได้ โดยโครงการวิจัย คณะนักวิจัยจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้จับมือกับ วช. เพื่อนำมาจัดแสดงที่งาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2564 (Thailand Research Expo 2021) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถ เข้าร่วมชมได้ ตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 อีกด้วย ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ

ตำรวจภูธรภาค ๗ เพิ่มความเข้มในการระดมกวาดล้างการกระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางและความผิดที่เกี่ยวข้อง

ตามหนังสือ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0007.33/3475 ลงวันที่ 10 พ.ย. 64 เรื่อง ให้เพิ่มความเข้มในการระดมกวาดล้างการกระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางและความผิดที่เกี่ยวข้อง ห้วงระหว่างวันที่ 11 - 20 พ.ย. 64 ตำรวจภูธรภาค 7 จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยกวาดล้างการกระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางและความผิดที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7 ระหว่างวันที่ 11 - 20 พ.ย. 64

วันนี้(วันจันทร์ ที่ 22 พ.ย. 64) เวลา 14.30 น.

พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์
ผบช.ภ.7
เป็นประธานแถลงผลการระดมกวาดล้างการกระทำผิดในการแข่งรถในทาง

พร้อมด้วย
พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต
รอง ผบช.ภ.7
พล.ต.ต.พิสิฐ ตันประเสริฐ
รอง ผบช.ภ.7
พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์
รอง ผบช.ภ.7
พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน
รอง ผบช.ภ.7
พล.ต.ต.รักษ์จิต หม้อมงคล
รอง ผบช.ภ.7
ผบก.ในสังกัด ภ.7

ได้ร่วมกันแถลงข่าว
“ผลการระดมกวาดล้างการกระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางและความผิดที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7 ระหว่างวันที่ 11 – 20 พ.ย. 64”

โดยมีผลการปฏิบัติ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนี้
1.ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น จำนวน 8 ราย
2.สนับสนุนให้ผู้อื่นขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น จำนวน 5 ราย
3.เปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น จำนวน 351 ราย
4.ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร จำนวน 30 ราย
5.ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวฯ จำนวน 14 ราย
6.ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถธรรมดา จำนวน 19 ราย
7.ขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ จำนวน 947 ราย
8.ยินยอมให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ขับรถของตนเอง จำนวน 26 ราย
9.ใช้รถที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบถ้วน จำนวน 753 ราย
10.ใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียน จำนวน 58 ราย
11.ดำเนินคดีกับร้านขาย/ดัดแปลงหรืออุปกรณ์ จำนวน 2 ราย
พร้อมด้วยของกลาง ดังนี้
1.รถยนต์ จำนวน 3 คัน
2.รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,097 คัน
3.ท่อไอเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 133 ชิ้น

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตามมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานเชิงรุกในการป้องกันปราบปรามการแข่งรถในทางและเกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ตรวจค้นและประชาสัมพันธ์ร้านขายรถและอุปกรณ์รถ จำนวน 1,647 ร้าน
2.จัดทำประวัติผู้กระทำผิดและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะแตกรถในทาง จำนวน 244 ราย

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 7 ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมบูรณาการกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนและสังคมโดยรวมมีความสงบสุขและเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไปและสังคมโดยรวม ทำให้ประชาชนคลายความหวาดระแวงในการใช้ชีวิต

ในการปฏิบัติการในครั้งนี้ตำรวจภูธรภาค 7 ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนและพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตำรวจภูธรภาค 7 โดยยึดหลักการทำงานแบบ “กัดไม่ปล่อย ล่าไม่ถอย คอยไม่เลิก” และ “ขยัน อดทน ดำรงตนอย่างมีเกียรติ” จะมุ่งมั่นทำงานตามวิสัยทัศน์ของ ผบช.ภ.7 ที่ว่า “ทำงานเชิงรุก เป็นตำรวจมืออาชีพ เพื่อความผาสุกของประชาชน” โดยจะทำการปราบปรามอาชญากรรมในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเมื่อมั่นศรัทธาและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อให้นโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด

ณ อาคารตำรวจภูธรภาค 7 ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม