ปันน้ำใจแจกข้าวกล่องช่วยประชาชน ที่เดือดร้อนจากโควิด-19

 ที่ซอยรามอินทรา 8 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม.นายโชคภิวัสร์ เลิศสุรสีห์(พญาต่อ) นายกสมาคมสื่อมวลชน ดิจิทัล-ประธานองค์การประชาชนเพื่อประชาชน 

พร้อมด้วยนายจิรวัฒน์ รุ่งอัครเศรษฐี(เชฟคำมูล)น.ส ชนัดภาด์ รุ่งหิรัญวิภา(นุ่น)ดร.พีรวัฒน์-ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ ประธานกต.ตร.กทม.(ภาคประชาชน)ประธานกต.ตร.บก.น.1,ประธานกต.ตร.บก.สายตรวจและปฏิบัติการประธาน.กต.ตร.สน.ชนะสงคราม และรองประธานที่ปรึกษากองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมกันแจกข้าวกล่องช่วยประชาชน ฝ่าวิกฤตโควิด-19

ซึ่งขณะนี้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังมีผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนธุรกิจและปัญหาการดำเนินชีวิตในกลุ่มของ”พญาต่อ” จึงได้มาร่วมกันแจกข้าวกล่องที่ซอยรามอินทรา 8 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม.โดยมีเงื่อนไข ประชาชนคนทั่วไปสามารถมารับข้าวกล่องได้หนึ่งคนต่อหนึ่งกล่อง

ดังนั้น”นายโชคภิวัสร์(พญาต่อ)และนายจิรวัฒน์(เชฟคำมูล)ดร.พีรวัฒน์-ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ,น.ส ชนัดภาด์(นุ่น)จึงอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 เพื่อให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน.

พญาต่อ #เชฟคำมูล #พีรวัฒน์ #ธัชวิน

“อลงกรณ์”เสนอยกระดับสถาบันอาหารเป็นองค์การอาหารแห่งชาติ(National Food Organization)

ชี้ปี2565คือปีแห่งโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารหลังตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรโตต่อเนื่อง

วันนี้ (29 พ.ย. 64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเสวนาภายใน งาน NFI Talk ครั้งที่ 1 “เดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย ปี 2565” ในวาระครบรอบ25ปีของสถาบันอาหาร (National Food Institute)

โดยมี ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติและทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานเสวนาผ่านระบบ ZOOM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์ที่มีต่อประเด็นท้าทายใหม่ๆ ในการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยปี 2565 และในอนาคต และจุดประกายแนวคิดในดำเนินธุรกิจและปรับกลยุทธ์องค์กรพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในโลกยุค Next normal โดยการเสวนามีประเด็นในหัวข้อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และบทบาทของภาครัฐต่อทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและอาหารของประเทศไทยในปี 2565 และระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ กลยุทธ์การแข่งขันและการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารในโลกยุคหลังโควิด-19 และสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารปี 2565 เทรนด์ธุรกิจโลกหลังยุคโควิด-19 และโอกาสผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปของประเทศไทยปี 2565

นายอลงกรณ์ กล่าวว่าแม้จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากมาตรการปัองกันการแพร่ระบาดโควิด19ของประเทศคู่ค้าแต่ด้วยการขับเคลื่อนปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์บนความร่วมมือกับทุกภาค

ส่วนโดยเฉพาะสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันเกษตรกรและภาควิชาการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมขยายตัวแบบต่อเนื่องและส่งแรงดันต่อไปถึงปีหน้าสะท้อนผลสำเร็จจากตัวเลข
การส่งออกสินค้าเกษตร10 เดือน(ม.ค.-ตุลาคม)มีมูลค่าถึง677,955 ล้านบาท เติบโต24.5 %และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก66,048 ล้านบาทขยายตัว 22 %
ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 10 เดือนมีมูลค่า494,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3.8 %และ
ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกันโดยเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก56,543 ล้านบาทขยายตัว13 %
อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการในมิติใหม่ได้แก่
การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain)ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนและการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร การขับเคลื่อนระบบPre order ระบบประกันสินค้า ระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร(Branding)ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพและและมาตรฐานสินค้าเกษตร
และการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าใหม่ๆและตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพเช่น อาหารแห่งอนาคต(Future food) อาหารฮาลาล(Halal food)และโปรตีนทางเลือกใหม่จากพืชและแมลง ประการสำคัญคือการพัฒนาโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องจนสามารถเปิดด่านการส่งออกผลไม้ระหว่างไทยกับจีนที่ผ่านประเทศที่3ได้สำเร็จเพิ่มเป็น16ด่านและการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยขนส่งสินค้าไปทุกมณฑลของจีนและเชื่อมโยงไปเอเซียกลาง เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและ ยุโรป
“ปีนี้และปีหน้า เรายังเดินหน้าต่อเนื่องในการสร้างฐานและกระจายการแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้โครงการ1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมครอบคลุม18กลุ่มจังหวัด โครงการอุตสาหกรรมอาหารโลก(Global Food Valley ) โครงการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนเป็นสตาร์ทอัพเกษตรและเอสเอ็มอี.เกษตรและโครงการเกษตรแม่นยำ2ล้านไร่ในการใช้เกษตรอัจฉริยะ(smart farming)เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรรวมทั้งการปฏิรูปการบริหารและการบริการของกระทรวงเกษตรฯและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 โครงการเรือธง(Flagship project)ได้แก่ศูนย์AIC (ศูนย์เทคโนโลยีเกษครและนวัตกรรม) ศูนย์Big Data โครงการQuick Win22หน่วยงานและโครงการวันแอป(One App) โดยเชื่อมั่นว่าปี2565จะเป็นปีแห่งโอกาสของครัวไทย ครัวโลก
ภายใต้อุตสาหกรรมอาหารฐานเกษตรเพื่อเดินหน้าสู่
เป้าหมายการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทน (Topten)ของโลกและอันดับ2ของเอเซียตามนโยบายของรัฐบาลในตอนท้าย

นายอลงกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ยังเสนอแนะให้ยกระดับสถาบันอาหารจากรูปแบบมูลนิธิเป็นองค์การอาหารแห่งชาติ(National Food Organization)และวางโครงสร้างลงไปให้ครอบคลุม18กลุ่มจังหวัดจะข่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารบนฐานเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น.

กรมการพัฒนาชุมชน ชูศูนย์จัดการกองทุนชุมชนแก้ปัญหาหนี้แก่ประชาชน

ความเหลื่อมล้ำ” คือ ความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทและกลุ่มเปราะบาง

ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นปัญหาอยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนานเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาระดับประเทศ อย่างปัญหาหนี้สิ้น ซึ่งคนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่มักถูกมองว่า เกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือการขาดวินัยทางการเงินที่ดี แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้จากความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ บางรายต้องแบกรับภาระครอบครัว หรือเป็นหนี้จากความเจ็บป่วย และอุบัติเหตุกะทันหันที่ไม่คาดคิด อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มาซ้ำเติมให้ปัญหาหนี้สินยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ผลจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ยังพบว่ามีปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประชาชนในชนบท

ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการเงินทุนในการเลี้ยงชีพแต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กองทุนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน สามารถกู้ยืมเงินมาลงทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยมี “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” เป็นองค์กรในการบูรณาการกองทุนชุมชน ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่มาจากตัวแทนของกลุ่ม องค์กรการเงินต่าง ๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนที่เป็นหนี้ซ้ำซ้อนกันหลายสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถลดหนี้ และปลดหนี้ได้ในที่สุด ซึ่งผลการดำเนินงานของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่ผ่านมา ในช่วงปี 2560 – 2562 สามารถบริหารจัดการหนี้ให้กับครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา จำนวน 45,873 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.77 ของครัวเรือน สามารถลดและปลดหนี้ได้ถึง 871,827,496 บาท

การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน  โดยศูนย์จัดการกองทุนชุมชนนี้

จึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับความเข้มแข็งของคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่สามารถบูรณาการการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ทำให้การขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาและทักษะในการพัฒนาอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการให้ทันสมัย นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการหนี้ของครัวเรือนให้หมดไปได้ สอดคล้องกับหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริหาร ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรสำนักพัฒนาทุน และองค์กรการเงินชุมชน คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชน และชาวพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด อำเภอ ที่เพียรพยายาม ตั้งใจเพื่อพี่น้องประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

เกษตรฯ.เดินหน้า”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”วางแผน5ปีพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแม่น้ำโขงรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ

เกษตรฯ.เดินหน้า”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”วางหมุดหมายแผน5ปีพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแม่น้ำโขงรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดึงทุกภาคีร่วมขับเคลื่อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการป้องกันแล้แก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เปิดเผยถึงผลการประชุมผ่านระบบ ZOOM ในวันนี้ (28พ.ย.)โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายกฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กร ตัวแทนเกษตรกรจากทุกจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ในประเด็นความก้าวหน้าของการทำงานโดยคณะอนุกรรมการฯในพื้นที่ และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมพิจารณาการตั้งของบประมาณในปี 2566 ตามโครงการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของประชาชนต่อผลกระทบของแม่โขงที่เปลี่ยนแปลงไป

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการฯ ในพื้นที่ทั้งด้านเกษตรและด้านประมง อย่างครอบคลุมในทุกระดับ โดยเห็นชอบในกรอบและแนวทางของร่างแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 นั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการเพาะเลี้ยง แปรรูป การตลาด และรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงให้ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีความหลากหลายทางชีวภาพ และป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ พร้อมส่งเสริมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยจะร่วมกันในการพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์สูงสุด แผนงานดังกล่าวมีโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์จำนวน 44 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 195.87 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว และมีแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเพิ่มเติม โดยจะเสนอเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาขอรับงบประมาณต่อไป

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึง ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา และนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากโดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถเชื่อมโยง เครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ สามารถ ช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกร เอื้อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งสังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืนภายใต้5ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคการเกษตรไทยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ยุทธศาสตร์”3’s”(Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน และให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป

สทน. จัดกิจกรรมการตัดสินผลงานรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีประจำปี 2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จัดกิจกรรมการนำเสนอและ ตัดสินผลงานรอบชิงชนะเลิศ โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีปี 2564 ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกจัดขึ้นอย่าง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “FOOD FORWARD ยกระดับอาหารพื้นถิ่นไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมฉาย รังสี” เพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารฉายรังสีประจำปี โดยจัดให้มีการนำเสนอผลงาน ประกาศผลผู้ ชนะ รวมถึงการมอบรางวัลในรูปแบบออนไลน์ และถ่ายทอดสดกิจกรรมทาง Facebook live ผ่านเฟซบุ๊คเพจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ www.facebook.com/thai.nuclear
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีปี 2564 เปิดสนามประลองให้คนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการอาหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสสร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร ฉายรังสีใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่นของไทย ผ่านการนำความรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีการฉายรังสีมาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การยืดอายุการเก็บ รักษาผลิตภัณฑ์ การลดปริมาณจุลินทรีย์ในอาหารที่ก่อให้เกิดโรค เป็นต้น โดยโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่าง ดี มีผู้ที่ส่งผลงานจากทั่วประเทศเข้าร่วมประกวดกว่า 40 ผลงาน

“โครงการนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึง ประชาชนทั่วไป นำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นไทยใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็น เครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งทาง สทน. เองมีความคาดหวังว่า ประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์อาหาร ฉายรังสี ที่เกิดจากแนวคิดริเริ่มของโครงการนี้ออกวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในท้องตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความรู้ ความเข้าใจและการยอมรับในอาหารฉายรังสีอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีปี 2564 ได้เริ่มดำเนินการกิจกรรมของโครงการมาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดรับสมัครและส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือก จนเหลือผลงานประเภทละ 10 ทีม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกได้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการจากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารฉายรังสี เพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในรอบชิงชนะเลิศ จนได้ผู้ ชนะในแต่ละประเภทรางวัล รวมมูลค่ากว่า 170,000 บาท ดังนี้

ประเภทอุดมศึกษา 1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม ไม่เป็นไรไตแข็งแรง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผลงาน ปลาเค็มฉุยฉาย

2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม ดิบแต่ไม่ die มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน Find my จ่อม

3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม Neo Tofu Technology มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน เต้าหู้ดำฉายรังสีซอสแจ่วพร้อมบริโภค

4. รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลละ 6,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ 1. ทีมซุปเปอร์จ่อม จ่อมไบโอ มหาวิทยาราชภัฏนครราชสีมา ผลงาน Shrimp Jom 2. ทีม Dare to do มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ผลงาน Fa Ju Wa ตูปะซูตง

5. รางวัล Popular vote ได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท ได้แก่ ทีม บักนัด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน เค็มบักนัดฉายรังสี

ประเภทประชาชนทั่วไป 1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม ต่าพอเฌอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลงาน ผงปรุงรสต่าพอเฌอ

2.รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม Healthy Food สุขภาพดีด้วยอาหารฉายรังสี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ผลงาน ลูกชิ้นปลาดุก Keto Friendly สูตรโซเดียมต่ำ

3.รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม ซัมบาลแมงโก้ จังหวัดปัตตานี ผลงาน น้ำพริกออร์แกนิคปลอดสารกันบูด

4.รางวัล Popular vote ได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท ได้แก่ ทีม ต่าพอเฌอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลงาน ผงปรุงรสต่าพอเฌอ

สอบถามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันเทคโนโลยี นิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ www.facebook.com/thai.nuclear

ททท. กาญจนบุรี ร่วมมือกับ 2 สมาคมท่องเที่ยว เสนอขายสินค้าภายใต้แนวคิด“เที่ยวเมืองกาญจน์ Amazing ยิ่งกว่าเดิม”

ททท. กาญจนบุรี ลงนามความร่วมมือกับ 2 สมาคมท่องเที่ยว เสนอขายสินค้าท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “เที่ยวเมืองกาญจน์ Amazing ยิ่งกว่าเดิม”

ททท. สำนักงานกาญจนบุรี ขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี โดยร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) และสมาคมเครือข่ายผู้ประกอบการนำเที่ยว (สคท.) ลงพื้นที่ทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสินค้าท่องเที่ยวตามไลฟ์สไตล์ ในมุมมองใหม่ภายใต้แนวคิด “เที่ยวเมืองกาญจน์ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นางสาวสรียา บุญมาก ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรีได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในช่วงปลายปีนี้แล้ว โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อดำเนินการสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัย ความอบอุ่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ ททท. สำนักงานกาญจนบุรี ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านการตลาดการท่องเที่ยว จึงได้จัดกิจกรรม Agent and Media FAM Trip ขึ้นในวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2564 โดยร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) และสมาคมเครือข่ายผู้ประกอบการนำเที่ยว (สคท.) จัดนำสมาชิกซึ่งเป็นบริษัททัวร์ จำนวน 17 ราย พร้อมด้วยบริษัทหนุ่มสาวทัวร์ สื่อมวลชน และบล็อกเกอร์ รวม 30 คน เดินทางทดสอบสินค้าท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธรรมชาติบำบัด Power Spot Travel ที่สร้างเสริมพลังด้านบวกทั้งร่างกายและจิตใจสำหรับกลุ่มวัยทำงาน ภายใต้แนวคิด

ซูม….?
ซูม…?
ซูม…?

“เที่ยวเมืองกาญจน์ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โครงการเที่ยวกาญจน์ เที่ยวใกล้ไม่รู้จบ ทำกิจกรรมการอาบป่า แช่น้ำแร่ท่ามกลางธรรมชาติเคียงธารน้ำเย็น ณ พุน้ำร้อนหินดาด รวมถึงทดสอบสินค้าท่องเที่ยวตามไลฟสไตล์ของกลุ่ม Gen – Y ที่ต้องการค้นหามุมมองใหม่ ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต หรือการท่องเที่ยวแบบผ่อนคลาย สร้างความทรงจำที่ดี เช่น ได้ตะลุยไปในอุโมงค์ 3 มิติ ซึ่งเป็นเหมืองแร่เก่าที่ชุมชนสหกรณ์นิคม ย้อนรำลึกถึงวันวานอันรุ่งเรืองของโรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทยในอดีต เป็นต้น

นางสาวสรียา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จังหวัดกาญจนบุรียังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและน่าสนใจอีกมากมายให้บริษัททัวร์นำไปทำโปรแกรมเสนอขาย อีกทั้งจังหวัดกาญจนบุรีกำลังเตรียมการจัดงานใหญ่ประจำปี คืองานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว ระหว่างวันที่ 17-26 ธันวาคม 2564

จึงเชื่อมั่นว่าทางจังหวัดกาญจนบุรีจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับบริษัททัวร์แน่นอน ในโอกาสนี้ จึงมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ททท. สำนักงานกาญจนบุรี สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย สมาคมเครือข่ายผู้ประกอบการนำเที่ยว และบริษัทหนุ่มสาวทัวร์ จำกัด เพื่อเป็นข้อตกลงในการดำเนินงานด้านการตลาดร่วมกันให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไป

ทัต เมืองชล (เจริญ) เตรียมจัดประกวดพระเครื่องแบบยุคดิจิทัล ระดับโลก

ทัต เมืองชล (เจริญ) เตรียมจัดประกวดพระเครื่องแบบยุคดิจิทัล ระดับโลก โดยนำเท็คโนยี่เครื่องการตรวจมวลสารหน้าพระแบบ ยุคใหม่..แยกมวลสารในองค์พระของท่านได้อย่างแม่นยำ!

วันก่อน ทีมงานได้มีโอกาส สัมภาษณ์ อาจารย์ ทัต เมืองชล (เจริญ) พร้อมด้วย อาจารย์ วิสูตร ตาเทพ ที่บ้านพัก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ท่านเป็นผู้มีความชำนาญการด้านพระเครื่องต่างๆ โดยเฉพาะพระสมเด็จ และทั้งสองท่านเป็นผู้นำเข้าเครื่อง OLYMPUS VANTA เพื่อนำมาใช้ตรวจมวลสารในองค์พระทุกรูปแบบ ได้อย่างแม่นยำ เครื่องนี้สามรถตรวจพระ เช่นพระผง พระโลหะต่างๆ
ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า กว่าจะซื้อเครื่องนี้ฯ ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี ในการศึกษา ทดสอบ ดูประสิทธิภาพ ของเครื่อง เพราะเครื่องนี้มีราคาสูง เกือบ 1.5 ล้านบาท

ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า ประมาณต้นปี 2565 หากสถานการณ์ โควิด -19 คลี่คลาย ไปในทางที่ดี ทางทีมงานของ “ชมรมอนุรักษ์พระเครื่องไทย” จะได้จัดให้มีการประกวดพระเครื่องพระแท้ตามอันดับต่อไป ที่ตลาดนินจา จ.ชลบุรี ของ คุณตัน ภาสกรนที ซึ่งท่านได้ให้การสนับสนุน อ.ทัต เมืองชล และชมรมฯ โดยท่านชื่นชมเครื่อง OLYMPUS VANTA มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ยุคนี้ต้องแม่นยำกว่าเดิมและพิสูจน์ได้โดยนำเท็คโนโลยี่มาช่วย…!
ท้ายนี้ อาจารย์ทัต ฯ ฝากถึงผู้ที่สนใจต้องการจะตรวจประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องฯ โดยสามารถนำพระเครื่องมาตรวจได้ ที่บ้านพัก จ.ชลบุรี ทั้งนี้มีราคาค่าตรวจ องค์ละ 500.- บาท โดยปรึกษา อ.ทัต เมืองชล โทร.081-0048308
(รับตรวจเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป)

วช. นำ “นวัตกรรมเสื่อลำแพน” สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์

บรรยากาศในงานวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นิสิต นักศึกษาและประชาชนต่างทยอย เข้าชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและส่วนที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาจัดแสดง
โดยหนึ่งผลงานวิจัยที่นำเสนอในเวที “Research Expo Talk” เป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่นำนวัตกรรมเสื่อลำแพน ไปถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนากระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการชุมชน ให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทาน ปราศจากเชื้อรา ป้องกันมอด ปลวก พัฒนาสีสันลวดลายที่สวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล

เสื่อลำแพน เป็นสินค้าจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน อำเภอประจันตคาม อำเภอปราจีนบุรี ที่ทำขายตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในอดีตใช้เป็นหลังคากันแดดกันฝน เมื่อเวลาเทียมเกวียน และดัดแปลงมาใช้เป็นผนัง ฝ้าเพดาน ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีเรื่องราวเล่าขานถึงที่มาสร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน ในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นเสื่อลำแพนจึงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ อาจารย์ประภาควิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ทำวิจัย ทางผู้วิจัยนำเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนาสินค้าเสื่อลำแพนให้สามารถมูลค่า รวมถึงช่วยพัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิตให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้จริง
กระบวนการที่นำมาใช้เริ่มตั้งแต่การจักเส้นตอกให้มีขนาดและคุณภาพสม่ำเสมอ ด้วยเครื่องจักเส้นตอก การเพิ่มคุณสมบัติเส้นตอกด้านการป้องกันเชื้อรา การตกแต่งเส้นตอกด้านการสะท้อนน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เส้นตอก และผลิตภัณฑ์การให้ลวดลายด้วยการสานเป็นแบบของอัตลักษณ์ท้องถิ่น และผสมผสานลวดลายสมัยใหม่

ด้วยเทคโนโลยีการอัดแผ่นเสื่อเพื่อประโยชน์การใช้งานทางสถาปัตยกรรม รวมไปถึงการนำเศษตอกมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องเผาทิ้ง ผลผลิตที่เกิดจากการสร้างอัตลักษณ์และลวดลายสานใหม่ คือการเพิ่มคุณสมบัติเส้นตอก แผ่นอัดเสื่อลำแผน ต้นแบบรีสอร์จากเสื่อลำแผน และต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษไผ่ในกระบวนการ
จากที่ทีมวิจัยได้ลงไปช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 % จากเดิมสานเสื่อลำแพนลายสองขนาด 120 X 240 เมตร มีรายได้แผ่นละ 120 บาท คิดเป็นตารางเมตรละ 60 บาท เสื่อลำแพนลวดลายใหม่ราคาตารางเมตรละ 500-700 บาท ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับความละเอียดของลายที่สาน ในอนาคตนักวิจัยจะมีการขยายผล การสร้างงานไปยังพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสร้างเยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานงานได้เพิ่มขึ้นและพร้อมรองรับการว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อีกด้วย

CEA ร่วมกับ กกพ. เปิดตัว 4 แพลตฟอร์ม Wonder Waste!

สร้างนวัตกรรมคัดแยกขยะชุมชน สู่พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. เผยผลสำเร็จโครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! เปิดตัว 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า ผ่านการนำร่อง 4 พื้นที่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต คาดพัฒนาสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมปลอดขยะ
ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เปิดตัว 4 พื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะเพื่อการผลิตไฟฟ้า บนพื้นฐานของการศึกษาพฤติกรรมผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชนในจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องการจัดการขยะให้ได้คุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนต่อไป

“กกพ. ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy และสนับสนุนนโยบายรัฐที่จะก้าวไปสู่สังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในปี 2561 เผยว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยสูงถึง 27.8 ล้านตัน แต่พบว่ายังมีขยะ 7.3 ล้านตันหรือ 27% ที่ยังกำจัดไม่ถูกวิธี ประกอบกับส่วนหนึ่งประชาชนยังขาดความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้กำจัดขยะยังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โครงการ Wonder Waste! จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์รูปแบบหรือนวัตกรรมการคัดแยกขยะใหม่ ๆ ที่ชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปสู่การใช้งานได้จริง และเพิ่มทางเลือกในการผลิตเชื้อเพลิง” ดร.บัณฑูรกล่าว

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “CEA เป็นหน่วยงานที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ที่ประกอบด้วยบุคลากรสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงาน สมาคมต่าง ๆ ซึ่งการเชื่อมโยงกันระหว่างทุกภาคส่วน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนและเมือง


โครงการ Wonder Waste! นำเสนอแพลตฟอร์มจัดการขยะครัวเรือนและชุมชน ผ่านการนำเสนอต้นแบบ 4 นวัตกรรมที่เกิดจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้เพื่อการระดมความคิดเห็นและแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ร่วม (co-create) กับประชาชนในพื้นที่ ในการพัฒนาสู่แนวคิดในการคัดแยกขยะ ให้เป็น 4 แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันตามบริบทการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ที่พร้อมขยายผลไปสู่องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจนำไปแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไปทดลองและปฏิบัติใช้ได้ เพื่อรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะที่มีคุณภาพ สำหรับการนำไปกำจัดหรือทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
สำหรับเนื้อหาและแพลตฟอร์มแยกขยะ ประกอบด้วย 4 ต้นแบบ ดังนี้

  1. PowerPick
    พัฒนาโดย : บริษัท ขอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
    พื้นที่ติดตั้ง : ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด ถนนมหาพฤฒาราม บางรัก กรุงเทพฯ
    แพลตฟอร์มที่มีแนวคิดแก้ไขปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นหลังบริโภคจากฟู้ดเดลิเวอรี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up ที่มีบริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิลด้วยตู้อัตโนมัติ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อม Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพ็กขยะ สู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) พร้อมใช้จักรยานเพาเวอร์พิกไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick WtE eBike บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ผ่านแอปพลิเคชันในการกำหนดเวลารับขยะถึงที่
  2. care4
    พัฒนาโดย : พิเศษ วีรังคบุตร และทีมงาน
    พื้นที่ติดตั้ง : หมู่บ้านจิตรณรงค์ 21 ใกล้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กรุงเทพฯ
    แพลตฟอร์มระบบเก็บขยะเพื่อส่งเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะ ด้วยวิศวกรรมและการออกแบบ มาใช้ร่วมกับระบบคัดแยกเพื่อทำให้การเผาขยะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการปรับปรุงคุณภาพขยะ

และลดขั้นตอนการคัดแยกให้มีความซับซ้อนน้อยลง ด้วยกระบวนการแยกขยะ – รับขยะ – พักขยะ – ส่งขยะ สำหรับการแยกขยะ จะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้านพร้อมเอกสารแนะนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการคัดแยก มีการรับขยะถึงหน้าบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในพื้นที่ โดยมีจักรยานเข้าไปรับขยะมาจัดการตามแต่ชนิดของขยะ และการพักขยะโดยการลดความชื้นด้วย Solar Waste Dryer ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครต่อไป

  1. บุญบุญ
    พัฒนาโดย : FabCafe Bangkok
    พื้นที่ติดตั้ง : พื้นที่ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น
    หุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่สร้างแรงจูงใจ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่นำเทคโนโลยี Delivery Robot ด้วยการนำถังขยะมาหาคน ให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูล (Information Agent) และความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ ประกอบด้วยหุ่นยนต์แมวใช้ภายในร้านคาเฟ่ ‘บุญเล็ก’ ที่วิ่งไปรับบริจาค ขยะที่ใช้ภายในร้านค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะ แก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และหุ่นยนต์แมวใช้ภายนอก ‘บุญใหญ่’ ที่รับขยะจากร้านค้าที่มีการคัดแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระบบ Line Official โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งมีการต่อยอดด้วยการจัดแคมเปญ Activity Waste Information ร่วมกับพื้นที่อีกด้วย
  2. BABA Waste
    พัฒนาโดย : วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ และทีมงานอาร์ ดี เอ็ม สตราติจีส
    พื้นที่ติดตั้ง : พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต
    แพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน โดยใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง (ครัวเรือน ร้านค้า) – กลางทาง (คนเก็บขยะ) – ปลายทาง (ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัด ภูเก็ต) พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการจัดการที่สมบูรณ์และความยั่งยืน ประกอบด้วย BABABIN ถังขยะสำหรับใช้ภายในคาเฟ่หรือบ้านเรือน และสำหรับใช้ภายนอก BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลผลงานในการจัดแสดง Wonder Waste! Showcase
ได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 ธันวาคม 2564
สถานที่ : ห้อง Material & Design Innovation Center ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ
วัน – เวลา : 10.30 – 19.00 น.
เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย* (ติดต่อรับสัญลักษณ์เข้าพื้นที่ที่ Info Guru Counter ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ)

เกี่ยวกับ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) : CEA หน่วยงานเฉพาะด้านที่ทําหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโต และการส่งเสริมให้ภาคการผลิตนําความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นําไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจและของประเทศ
เลขที่ 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร : 0-2105-7400เว็บไซต์ : cea.or.th และ tcdc.or.th

เกี่ยวกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. หน่วยงานกำกับกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมและเป็นธรรม ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลพลังงานของประเทศด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสในด้านอัตราค่าบริการ คุณภาพและการให้บริการ ส่งเสริมการแข่งขันในการจัดหาพลังงาน สร้างความมั่นคง พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานและประสิทธิภาพกิจการพลังงานให้ได้มาตรฐาน เกิดความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าถึง สร้างความเข้าใจ และมีส่วนร่วมพัฒนาพลังงานของประเทศ
เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร : 0-2207-3599 Call Center : 1204 อีเมล : support@erc.or.th

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :
ธนภรณ์ ไชยฤกษ์ สำนักสื่อสารและการตลาด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
โทร 02 105 7400 #172 อีเมล : Tanapond.c@cea.or.th
อรทัย พวงพูล บริษัท มาเธอร์ ครีเอชั่น จำกัด โทร 0 2650 1192 #111
อีเมล์ : mother_cc@hotmail.com

วช.-เทศบาลยะลา นำนักวิจัย ม.นเรศวร เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก ที่ยะลา

หาฮอตสปอตการระบาดโควิด-19 ในชุมชน ล่วงหน้า 2 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ลงพื้นที่ จังหวัดยะลา เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก

เพื่อทำแผนที่ความเสี่ยงคาดการณ์ผู้ติดเชื้อระดับชุมชนในเทศบาลนครยะลา ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ สำหรับการดำเนินการเชิงรุกตอบโต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการสนับสนุนทุนจาก วช.

ประเทศไทยยังคงอยู่ในระลอกที่ 4 ของการระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธ์ุเดลต้า ทำให้โควิด-19 ระลอกนี้หนักหน่วงและรุนแรง แม้ผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลงต่ำกว่า 10,000 รายต่อวันแล้ว แต่ในหลายจังหวัดสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ จำนวนผู้ป่วยไม่ลดลง แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินหลายมาตรการเชิงรุก ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อรายบุคคล อีกทั้ง การเปิดประเทศและเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ และอาจเกิดการระบาดระลอกที่ 5 หากไม่มีการเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อลามจากระดับบุคคลไปยังระดับชุมชน

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นวัตกรรมการตรวจซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครกของชุมชน เป็นเครื่องมือพิเศษในการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระดับชุมชน รวมถึงสามารถใช้เทคนิคนี้ชี้เป้าฮอตสปอตของโควิด-19 ในระดับอาคาร เพื่อการดำเนินมาตรการตอบโต้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้อีกด้วย คือ ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 แม้ยังไม่แสดงอาการ แต่ก็จะหลั่งเชื้อโควิดปริมาณมากออกมาทางอุจจาระ-ปัสสาวะ ทำให้สามารถตรวจเจอการระบาดในระดับชุมชน หรืออาคารได้ โดยการตรวจหากซากเชื้อในน้ำเสียโสโครกรวมของชุมชนหรืออาคารดังกล่าว ทำให้การตรวจ 1 ตัวอย่างน้ำเสียสามารถแทนการเฝ้าระวังการติดเชื้อของคนทั้งอาคาร หรือ ทั้งชุมชน ซึ่งต่างประเทศได้เริ่มใช้แล้ว58ประเทศทั่วโลก โดยไทยได้ใช้งานใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ นครสวรรค์ พิษณุโลก ตาก และเชียงใหม่ ภายใต้การประสานความร่วมมือกับเทศบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมอนามัยและศูนย์อนามัย พบว่า เทคนิคนี้สามารถระบุชุมชนหรืออาคารที่มีการติดเชื้อได้ไวกว่าการตรวจรายบุคคลประมาณเฉลี่ย 2 สัปดาห์ สู่การใช้ประโยชน์ในเขตเทศบาลนครยะลา เพื่อนำข้อมูลไปทำเป็นแผนที่ความเสี่ยง คาดการณ์ผู้ติดเชื้อระดับชุมชน และเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนการระบาด โดยการประสานงานกับเทศบาลนครยะลา

นักวิจัยได้พัฒนาการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก โดยใช้เทคนิคทางเลือก LAMP Assay ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการตรวจด้วยเทคนิค RT-qPCR ประมาณ 5 เท่า ซึ่งเทคนิค LAMP เคยนำมาใช้ตรวจตัวอย่างทางจมูกและปากมาแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้กับเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียมาก่อน นักวิจัยจึงเลือกใช้เทคนิคดังกล่าวร่วมกับเทคนิค RT-qPCR เพื่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เชิงรุก จากตัวอย่างน้ำเสียโสโครกในสถานที่สุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาด สนามบิน และส่วนต่าง ๆ ของเทศบาล ในอนาคตอยากจะพัฒนานวัตกรรมออกมาในรูปแบบโมบาย เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน โดยการเก็บตัวอย่างไม่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน แต่สิ่งที่ท้าทายนักวิจัย คือการสกัดเชื้อด้วยวิธีพิเศษ

นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวเสริมว่า จังหวัดยะลาต้องการหลุดออกจากพื้นที่สีแดงเข้มให้ได้ เพื่อเปิดเมืองให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ได้ไปโรงเรียน ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยนายกเทศมนตรีฯ ได้ทราบถึงความก้าวหน้าด้านการ swab น้ำโสโครกในชุมชน ของนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการสนับสนุนของ วช. จึงอยากรับทราบพื้นที่ที่อาจมีผู้ติดเชื้อของเทศบาลนครยะลาจากการตรวจน้ำดังกล่าว เพื่อจะได้วางมาตรการตอบโต้ของเชื้อได้อย่างเท่าทัน

ทั้งนี้ โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำเสียชุมชน และการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ รวมพื้นที่ประมาณ 34 ตำแหน่ง แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตเทศบาลนครยะลา 30 จุด พื้นที่นอกเขตเทศบาล 3 จุด และที่โรงพยาบาลสนามอีก 1 จุด ครอบคลุมตลาดและอาคารสาธารณะต้องสงสัย เพื่อชี้บริเวณของชุมชนที่เป็นฮอตสปอตการระบาดของโควิด-19 และนำตัวอย่างน้ำกลับไปตรวจวิเคราะห์ซากเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วย RT-qPCR และ LAMP เพื่อคำนวณร้อยละของผู้ติดเชื้อในชุมชน และรายงานผลเป็นแผนที่ระบุความเสี่ยง คาดการณ์การติดเชื้อล่วงหน้าต่อไป โดยเทศบาลนครยะลาจะนำผลการวิจัยนี้ไปวางมาตรการเชิงรุก เพื่อลดการระบาดในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การนำทีมลงตรวจ RT-qPCR , ATK หรือการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ โดยทีมวิจัยหวังว่าการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโดยใช้เทคนิค LAMP ร่วมกับ RT-qPCR จะเป็นต้นแบบการสืบสวน และแจ้งเตือนล่วงหน้าหากพบสารพันธุกรรมของเชื้อ ทั้งนี้คณะวิจัยกำลังจัดทำฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สำหรับสืบสวนการติดเชื้อในระดับชุมชนด้วยการตรวจซากเชื้อในน้ำเสีย ในอนาคตอาจได้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมเป็นครั้งแรกของไทย หากการตรวจหามีประสิทธิภาพสูงขึ้น มหาวิทยาลัยนเรศวรจะเป็นศูนย์กลางในการใช้และถ่ายทอดเทคนิคการตรวจหาเชื้อในน้ำเสียด้วยเทคนิคดังกล่าวต่อไป

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ วช.ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง วช. และหน่วยงานประชาคมวิจัยได้เตรียมพร้อมนวัตกรรมทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อการรองรับการระบาดในระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโดยใช้เทคนิคผสมผสาน ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นับเป็นผลงานที่มีความก้าวหน้าและมีประโยชน์ต่อประเทศ สามารถลดต้นทุนการจัดการ เพื่อให้ชุมชนและสังคม สามารถเข้าถึงข้อมูล และการเตือนภัยล่วงหน้าจากการโรคอุบัติใหม่ได้